เมื่อ Facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘Meta’ เพื่อตอบรับกับปลายทางสู่โลก Metaverse อย่างเป็นทางการ โซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มก็ลุกเป็นไฟด้วยเทรนด์ “โลกเสมือน” ที่เสมือนจะเป็นโลกจริงในข้ามคืน และถ้าหากใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง Ready Player One โลกที่ผ่านแว่น VR ในหนังคงทำให้เราจินตนาการถึง Metaverse เป็นภาพเดียวกันไม่มากก็น้อย จนเราเกิดความสงสัยเล็กๆ ว่า ถ้าในวันที่โลก Metaverse เป็นจริงเป็นจังขึ้นมา แล้ว “บ้าน” ของเราในโลกนั้นจะเป็นยังไงบ้าง?
ความสงสัยนี้ทำให้เราลองเสิร์ชดู แล้วก็เจอข้อมูลน่าสนใจ เกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัลประเภทงานออกแบบที่อยู่อาศัยและเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งแต่งบ้าน ซึ่งบางแบบมีขายกันในระบบ NFT และไม่ใช่ราคาถูกๆ แต่ปิดการขายไปด้วยยอดราวๆ $500,000!! พอเห็นราคาบ้านดิจิทัลแล้ว ทำเอาเราเริ่มคิดว่า หรือ Metaverse จะอยู่ไม่ไกลแล้วจริงๆ! วันนี้เราเลยนำข้อมูลงาน Digital Interior ที่น่าจะเป็นเทรนด์ดังในอนาคตอันใกล้มาฝากกัน ลองมาดูกันว่า ถ้าเราจะมีบ้านในโลก Metaverse สักหลัง บ้านนั้นจะเป็นยังไง ตกแต่งสวยงามขนาดไหนกันนะ
การออกแบบภายในสุดล้ำกับ “Mars House”
ต้องบอกก่อนว่า โลก Metaverse นั้นทำให้เราไร้ข้อจำกัดในความคิดและจินตนาการ บ้านในโลกเสมือนนี้จึงไม่ผูกติดกับแค่ที่ดิน หรือวัสดุอุปกรณ์แบบอิฐหินปูนทรายเหมือนโลกจริงที่เราอยู่อย่าง “Mars House” ซึ่งเป็นบ้านดิจิทัลหลังแรกที่ขายได้บน NFT ในราคา $500,000 ก็ถูกวางคอนเซปต์ให้เป็นสถานที่ที่ใช้ปลอบประโลมรักษา สร้างแรงบันดาลใจ และต่อยอดความฝันของผู้ครอบครอง โดยบ้านหลังนี้ถูกออกแบบให้มีความโปร่งใส (Transparent) และมาพร้อมกับซาวด์เพลงอันแสนสงบ โดย Krista Kim ผู้ออกแบบนั้นบอกว่า บ้านหลังนี้สามารถสร้างได้จริงๆ ด้วยเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากแก้วโดยผู้ผลิตในอีตาลีด้วยนะ ไม่ใช่แต่จะมีสวยๆ ในโลก Metaverse อย่างเดียว
เทคโนโลยีที่ยกระดับบ้านเดิมๆ สู่โลกใบใหม่
จะเป็นยังไงถ้าบ้านใน Metaverse สามารถตอบโจทย์ชีวิตที่ดีด้วยการออกแบบได้ (Wellbeing interior) ซึ่งเว็บไซต์ TrendBible ได้คาดการณ์ว่าคอนเซปต์นี้จะกลายเป็นจุดหมายใหม่ของที่อยู่อาศัยในโลกอนาคต (หรืออาจจะเร็วๆ นี้) ซึ่งหมายถึงการได้ใช้ชีวิตอันเป็นอิสระ มีพื้นที่แห่งจินตนาการ ด้วยการผสมผสานของเทคโนโลยี ที่สร้างชีวิตแบบไร้รอยต่อ อย่างเช่นผลงานการออกแบบของ Studio Milo X JCP Universe ที่ร่วมกันดีไซน์ภาพภายในบ้าน ที่หลอมรวมการออกแบบทางสถาปัตยกรรมเชิงกายภาพ (เช่นผนังสีขาวเรียบๆ โต๊ะกาแฟ เก้าอี้อะไรต่างๆ) กับการออกแบบแสงที่ฉาบป้ายด้วยแสงสีต่างๆ เพื่อสร้างพื้นที่แห่งความฝัน พาผู้ใช้งานก้าวสู่จักรวาลใหม่ (โอ้โห ไปไกลมาก!) ถึงแม้ว่าโปรเจกต์นี้จะยังไม่ได้ทำขายให้คนเอาไฟไปส่องเฟอร์นิเจอร์ที่บ้านกัน แต่นี่ก็ถือเป็นก้าวใหม่ของการดีไซน์ ลองคิดภาพว่าพื้นที่ในบ้านกลายเป็นผืนผ้าใบให้เราแต่งแต้มเติมสีแบบดิจิทัล พร้อมเสียงสร้างบรรยากาศที่เข้ากัน ก็น่าจะเป็นมิติใหม่ในตลาดการออกแบบที่ฉีกจากแบบเดิมๆ ไม่น้อยเลย
ลวดลายดิจิทัลอันไร้ขีดจำกัด
มาถึงอีกหนึ่งศิลปะการออกแบบที่ผสมผสานเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในโลกจริงที่เราอยู่ และต่อยอดสู่ Metaverse ได้ด้วย และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนชอบแต่งบ้านที่ต้องการดีไซน์ใหม่ๆ สร้างสีสันไม่รู้เบื่อและจำเจ เมื่อดีไซเนอร์ที่ชื่อว่า Liv Bell ได้สร้างมิติใหม่ของการออกแบบลายผ้า โดยไม่ได้จำกัดอยู่ที่การทอ ปัก หรือพิมพ์ลายอีกต่อไป แต่สามารถใช้เทคโนโลยี Mapping สร้างสรรค์ลวดลายอันสมจริง และมีชีวิตชีวา ด้วยแพทเทิร์นที่เคลื่อนไหวได้อย่างพลิ้วไหว ซึ่งจะช่วยสร้างมุมมองใหม่ๆ ให้การแต่งบ้าน ที่นอกจากจะได้ลวดลายอันไร้ขีดจำกัดแล้ว ยังเป็นการลดการผลิตลายผ้าทำหรับเฟอร์นิเจอร์ และไม่ต้องทิ้งของเก่าให้เป็นขยะของโลก แต่ผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนลวดลายใหม่ๆ ได้แบบไม่รู้จบตามต้องการ